เมนู

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [13.อัปปมัญญาวิภังค์] 1.สุตตันตภาชนีย์
[517] คำว่า คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย อธิบายว่า ความเป็นผู้คุ้ม
ครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายก็มี ความเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายก็มี
ใน 2 อย่างนั้น ความเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นไฉน
ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้เห็นรูปด้วยตาแล้วรวบถือ แยกถือ ไม่ปฏิบัติเพื่อ
สำรวมจักขุนทรีย์นั้น ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรมคืออภิชฌา
และโทมนัสครอบงำได้ ย่อมไม่รักษาจักขุนทรีย์ ไม่ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟัง
เสียงด้วยหู ฯลฯ สูดกลิ่นด้วยจมูก ฯลฯ ลิ้มรสด้วยลิ้น ฯลฯ ถูกต้องโผฏฐัพพะ
ด้วยกาย ฯลฯ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว รวบถือ แยกถือ ไม่ปฏิบัติเพื่อสำรวม
มนินทรีย์นั้น ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและ
โทมนัสครอบงำได้ ย่อมไม่รักษามนินทรีย์ ไม่ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ความไม่
คุ้มครอง กิริยาที่ไม่คุ้มครอง ความไม่รักษา ความไม่สำรวมอินทรีย์ 6 เหล่านี้ นี้
เรียกว่า ความเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย1
ความเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นไฉน
ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปทางตาแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อม
ปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์นั้น ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรม
คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ย่อมรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์
ฟังเสียงทางหู ฯลฯ สูดกลิ่นทางจมูก ฯลฯ ลิ้มรสทางลิ้น ฯลฯ ถูกต้องโผฏฐัพพะ
ทางกาย ฯลฯ รู้ธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อ
สำรวมมนินทรีย์นั้น ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรมคืออภิชฌา
และโทมนัสครอบงำได้ ย่อมรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ความ
คุ้มครอง กิริยาที่คุ้มครอง ความรักษา ความสำรวมอินทรีย์ 6 เหล่านี้ นี้เรียกว่า
ความเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย2
ภิกษุเป็นผู้เข้าไปถึงแล้ว ฯลฯ ประกอบแล้วด้วยความเป็นผู้คุ้มครองทวารใน
อินทรีย์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ความเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
1 อภิ.สงฺ. 34/1352/302, อภิ.วิ. 35/905/440 2 อภิ.สงฺ. 34/1354/303

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :390 }


พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [13.อัปปมัญญาวิภังค์] 1.สุตตันตภาชนีย์
[518] คำว่า รู้จักประมาณในการบริโภค อธิบายว่า ความเป็นผู้รู้จัก
ประมาณในการบริโภคก็มี ความเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณในการบริโภคก็มี
ใน 2 อย่างนั้น ความเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค เป็นไฉน
ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ไม่พิจารณาโดยแยบคาย บริโภคอาหารเพื่อเล่น
เพื่อความมัวเมา เพื่อประเทืองผิว เพื่อความอ้วนพี ความเป็นผู้ไม่สันโดษ ความ
เป็นผู้ไม่รู้จักประมาณ ความเป็นผู้ไม่พิจารณาในการบริโภคนั้น นี้เรียกว่า ความ
เป็นผู้ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค1
ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค เป็นไฉน
ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายว่า เราบริโภคอาหารไม่ใช่เพื่อ
เล่น เพื่อความมัวเมา เพื่อประเทืองผิว และเพื่อความอ้วนพี แต่เพื่อกายนี้ดำรงอยู่
เพื่อให้ชีวิตินทรีย์เป็นไป เพื่อบำบัดความหิว เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ โดยอุบาย
นี้ เราจักกำจัดเวทนาเก่าเสียได้และจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ความเป็นไปแห่ง
ชีวิตินทรีย์ ความไม่มีโทษ และการอยู่โดยผาสุกจักมีแก่เรา ดังนี้ แล้วจึงบริโภค
อาหาร ความสันโดษ ความเป็นผู้รู้จักประมาณ การพิจารณาในการบริโภคนั้น
นี้เรียกว่า ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค1
ภิกษุเป็นผู้เข้าไปถึงแล้ว ฯลฯ ประกอบแล้วด้วยความเป็นผู้รู้จักประมาณใน
การบริโภคนี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค
[519] ภิกษุเป็นผู้หมั่นประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ตลอดปฐม-
ยามและปัจฉิมยาม เป็นไฉน
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุความดีด้วย
การเดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดวัน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุ
ความดี ด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดปฐมยามแห่งราตรี สำเร็จสีหไสยาสน์
โดยการนอนตะแคงข้างขวา เท้าซ้อนเท้า มีสติสัมปชัญญะ ตั้งใจว่าจะลุกขึ้นตลอด
มัชฌิมยามแห่งราตรี ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุความดีด้วยการ
เดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้หมั่นประกอบ
ความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ตลอดปฐมยามและปัจฉิมยามด้วยประการฉะนี้

เชิงอรรถ :
1 อภิ.สงฺ. 34/1353/303, อภิ.วิ. 35/905/441

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :391 }